06 สิงหาคม 2562

10 นิสัยแย่ ๆของข้าราชการไทยที่ทำให้ประเทศไทย 4.0 ไม่เป็นจริง

10 นิสัยแย่ ๆของข้าราชการไทยที่ทำให้ประเทศไทย 4.0 ไม่เป็นจริง


ผมได้รับคำถามจากข้าราชการท่านหนึ่งว่า อะไรที่ทำให้ผมลาออกจากราชการในวัยเพียง 34 ปี เพื่อมาเป็นวิทยากรสอนคนทั้งประเทศ เป็น Edutainer คนแรกของประเทศไทย ผมขอโอกาสในการนำเสนอลักษณะนิสัยแย่ ๆ ของข้าราชการจากประสบการณ์รับราชการของตัวเอง และจากบทความของวิรัช วิรัชนิภาวรรณ เรื่องวิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของข้าราชการไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการ ตลอดจน บทวิเคราะห์ต่าง ๆ ของผู้ทรงคุณวุฒินำมาสรุป เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาระบบราชการให้ดียิ่งขึ้น โดยมิได้มุ่งหมายมีเจตนาตำหนิข้าราชการคนหนึ่งคนใดหรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด
          บทความนี้ขอเป็นดังกระจกสะท้อนการปฏิบัติราชการเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่กรเป็น Thailand 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับประเทศไทยให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนสมดังเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ มิเพียงแต่ระบบราชการเท่านั้น ทุกภาคส่วนต้องมีการขับเคลื่อนบูรณาการการทำงานร่วมกันมากกว่าจะสมประโยชน์พวกพ้องระหว่างกัน
1. ฉันคือเจ้านายประชาชน
          ข้าราชการบางคนชอบเป็นผู้ออกคำสั่งหรือผู้ปกครองประชาชนและมีความคิดว่ารู้ดีกว่าประชาชน คือ รู้ดีว่าประชาชนมีความต้องการอะไรและสามารถเป็นผู้จัดหาให้ รวมทั้งชี้แนะให้ประชาชนปฏิบัติตามความต้องการของตนหรือของรัฐบาลเป็นหลักมากกว่าปฏิบัติงานความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
          การปฏิบัติตัวของข้าราชการบางคนมิได้มีจิตสำนึกว่ามีหน้าที่รับใช้ประชาชน ไม่เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ แต่กลับคิดว่าการที่ประชาชนมาติดต่อขอความช่วยเหลือเป็นการมารบกวน ดังนั้น การมาขอรับบริการจากหน่วยราชการจึงกลายเป็นการมาอ้อนวอน ขอร้อง และต้องมารับคำสั่งคำบงการของข้าราชการ ในบางครั้งถึงกับกล่าวกันว่า เมื่อประชาชนไปติดต่อราชการเหมือนกับการไปขอส่วนบุญจากทางราชการเลยทีเดียว
          การที่ข้าราชการทำตัวเป็นนายประชาชน เป็นผลเสียต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง เพราะการพัฒนาประเทศเป็นงานที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก โดยข้าราชการเป็นผู้สนับสนุน ชี้แนะ ให้คำแนะนำตามความจำเป็นหรือในทางวิชาการเท่านั้น แต่เมื่อข้าราชการบางหน่วยงานเข้าไปทำตัวเป็นนายประชาชน ไปทำสิ่งต่าง ๆ ให้ ไปบงการออกคำสั่ง จึงเป็นการผิดหลักการพัฒนาโดยสิ้นเชิง ผลก็คือประชาชนจะไม่ให้ความร่วมมือ หรือจะให้ก็เฉพาะในช่วงแรกหรือเมื่อได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น เช่น ได้รับเบี้ยประชุม กินอาหารฟรี หรือรับแจกของ เป็นต้น

2. ตัวใครตัวมัน ตัวกูของกู
          ข้าราชการบางส่วนนิยม “ปัจเจกชนนิยม” คือ ไม่สนใจที่จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาประเทศหรือปฏิรูประบบราชการพร้อมกับหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ชอบประสานงาน ไม่นิยมการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันปฏิบัติงาน หากไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน ชอบชิงดีชิงเด่นกันและเอาตัวรอด ใครหรือหน่วยงานใดดีกว่าเด่นกว่าจะอิจฉาริษยาและหาทางทำลายหรือสกัดกั้น รวมไปถึงการไม่ชอบประสานงาน ลักษณะนิสัยประการนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยหรือสังคมไทยมีโครงสร้างทางสังคมที่หละหลวม หรือโครงสร้างหลวม ๆ หรืออาจเรียกว่า โครงสร้างตามสบาย สืบต่อกันมาช้านานผลกระทบในแง่ลบของอุปนิสัยประการนี้คือ การพัฒนาประเทศรวมทั้งการปฏิรูประบบราชการจะเป็นไปคนละทิศคนละทาง ความสามัคคีระหว่างข้าราชการหรือระหว่างหน่วยราชการเกิดขึ้นได้อยาก แทนที่ “สามัคคีคือพลัง” กลับกลายเป็น “สามัคคีคือพัง” ขณะเดียวกัน การที่ข้าราชการมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ยิ่งส่งผลให้ข้าราชการรวมตัวกันไม่ติด หรือรวม “กลุ่ม” แล้วต้อง “กลุ้ม” ทุกครั้งไป สัมพันธภาพระหว่างข้าราชการจะไม่ตายตัวพร้อมที่จะเข้าเป็นสมัครพรรคพวกและเลิกราได้ตลอดเวลา อาจกล่าวได้ว่า สัมพันธภาพจะแปรไปตามผลประโยชน์ หรือ "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร มีแต่ผลประโยชน์เท่านั้นที่ถาวรมั่นคง" ดังนั้น จึงเป็นผลร้ายต่อการพัฒนาประเทศซึ่งเน้นความสำคัญของการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่องเพื่อปฏิบัติร่วมกัน
          นิสัยของข้าราชการประการนี้ครอบคลุมถึงการไม่ชอบประสานงานด้วย การประสานงานของข้าราชการ หมายถึงการร่วมมือกันปฏิบัติงานกับหน่วยราชการด้วยกันเองและกับหน่วยงานของภาคเอกชน สาเหตุของการไม่ประสานงานของข้าราชการ ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยม ทัศนคติ หรืออุปนิสัยของข้าราชการที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองมากกว่าคิดถึงผลประโยชน์ของประชาชน การประสานงานอาจเป็นไปได้อย่างดีถ้าหน่วยราชการหรือข้าราชการในแต่ละหน่วยงานได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นเงิน ชื่อเสียง หรือได้หน้า แต่ถ้าผลประโยชน์มีน้อย การประสานงานจะเกิดน้อยด้วย เข้าทำนอง "เงินไม่มา ทำไม่เป็น" หรือ “เงินดี งานเดิน เงินเกิน งานวิ่ง เงินนิ่ง งานหยุด” สำหรับข้ออ้างที่นำมาใช้คือ หน่วยงานของตนมีงานประจำล้นมือและมีกำลังเจ้าหน้าที่น้อย เป็นต้น
          การขาดการประสานงานของข้าราชการเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการอย่างมาก ด้วยเหตุที่การปฏิบัติงานพัฒนาประเทศต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงาน แต่เมื่อหน่วยงานต่าง ๆ ขาดการประสานงานกัน ต่างฝ่ายต่างทำ การพัฒนาประเทศยากที่จะประสบความสำเร็จ

3. ระบบอุปถัมภ์ค้ำชูประเทศไทย
          ข้าราชการบางคนนิยมชมชอบและนำระบบอุปถัมภ์มาใช้ ระบบนี้มีส่วนทำให้ข้าราชการมีพฤติกรรมไปในแนวทางที่มีข้ากับเจ้า บ่าวกับนาย ผู้ใหญ่กับผู้น้อย ผู้นำกับผู้ตาม หรือผู้อุปถัมภ์กับผู้ถูกอุปถัมภ์ ชีวิตของข้าราชการชั้นผู้น้อยจะได้ดิบได้ดีหรือตกอับขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชาที่คอยปกปักรักษาคุ้มครองภัยต่าง ๆ ให้ ส่วนผู้ใหญ่จะได้แรงงานและการปรนนิบัติรับใช้จากผู้น้อยเป็นการตอบแทน เข้าทำนอง “ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย” ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่งบนลงล่าง อันเป็นการสั่งการบังคับกันตามลำดับขั้นโดยยึดถือพวกพ้องเป็นหลัก เข้าทำนอง “ค่าของคนมิได้อยู่ที่ผลของงาน” แต่ “ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร”
          ลักษณะนิสัยประการนี้ยังมีส่วนทำให้ข้าราชการขาดความรับผิดชอบ ขาดการเอาใจใส่ในการปฏิบัติงาน ข้าราชการจะปฏิบัติงานให้ผ่านไปวัน ๆ ตามความพอใจของตน โครงการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจะสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่มีผลต่อหน้าที่มาก เพราะระบบการลงโทษและการให้คุณของทางราชการไม่จริงจัง มูลเหตุจูงใจข้าราชการไม่ได้อยู่ที่การทำงานให้สำเร็จ แต่กลับเป็นเรื่องของพวกพ้องและการวิ่งเต้น ลักษณะนิสัยนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อการประสานงานและการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นทีมอีกด้วย

4.ถีบคนดีไปไกลตัว เอาคนชั่วมาใกล้ชิด
          การปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาในทางที่ถูกที่ควรและสุจริตนั้นเป็นสิ่งดี เพราะการแสดงถึงการรักและไม่ทอดทิ้งผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีขวัญกำลังใจ และผู้บังคับบัญชาได้รับการเคารพยกย่องมากขึ้น แต่การปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาในทางที่ผิดเป็นผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะเป็นการช่วยเหลือคนผิดและในบางกรณีเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
          ลักษณะนิสัยของข้าราชการที่ปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาในทางที่ผิดนี้ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากระบบอุปถัมภ์ โดยเฉพาะเมื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีอุปนิสัยที่ชอบแสดงความยิ่งใหญ่ วางก้าม วางตัวเป็นผู้มีอำนาจมีอิทธิพลส่วนหนึ่งแสดงออกโดยสนับสนุนปกปักรักษาคุ้มครองข้าราชการชั้นผู้น้อย ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยก็มีหน้าที่ติดสอยห้อยตาม คอยปรนนิบัติรับใช้เอาอกเอาใจข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นั้น ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยกระทำความผิด จึงเป็นหน้าที่ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่จะปกป้องให้
          หากข้าราชการชั้นผู้น้อยขัดใจข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็อาจถูกกลั่นแกล้งโดยพยายามค้นหากฎระเบียบมาใช้ลงโทษอย่างเข้มงวด เข้าทำนอง "ผิดกฎผิดระเบียบไม่เป็นไร แต่ถ้าผิดใจเปิดกฎ" การปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิดนั้น แม้มองได้ว่าเป็นการสร้างความดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิด แต่ก็ได้สร้างความเลวร้ายให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล การปกป้องมีหลายรูปแบบและเกิดขึ้นในหลายหน่วยงาน กรณีดังกล่าวเป็นที่มาของคำว่า "มวยล้ม ต้มคนดู"


5. ความยั่งยืนของแปลงผักชี
          ข้าราชการบางคนมีลักษณะนิสัยที่นิยมชมชอบกับการปฏิบัติงานอย่างฉาบฉวย ผิวเผิน และตบตาโดยไม่คำนึงถึงความคงทนถาวร แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้งานนั้นเสร็จทันการประกวด การมาตรวจงาน หรือการมาตรวจเยี่ยมของผู้มีอำนาจที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานนั้น ๆ ได้
          ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานแบบผักชีโรยหน้าจะเป็นข้าราชการในระดับหัวหน้าส่วนราชการ ส่วนผู้เสียผลประโยชน์คือ ประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์อย่างไม่เต็มที่จากการปฏิบัติงานจอมปลอมนั้นและเงินงบประมาณของชาติยังถูกผลาญไปเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย ที่แปลกมากคือ ประชาชนต่างรู้เห็นและเข้าใจพฤติกรรมเช่นนี้มาช้านาน แต่ทำไมข้าราชการระดับสูงจากส่วนกลางที่มาตรวจงานนั้นถึงไม่เข้าใจขบวนการผักชีโรยหน้านั้นและหาทางป้องกันอย่างจริงจัง หรือถ้ามองในด้านลบอาจเป็นเพราะตนเองได้เคยปฏิบัติมาเช่นเดียวกัน

6. ปัดความรับผิด ยึดติดแต่ความชอบ
          ลักษณะนิสัยชอบปัดความรับผิดชอบของข้าราชการสังเกตได้จากการวางอำนาจทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน และมีการโยนงานกันโดยต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ทำให้ชักช้า และเมื่อมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นจะหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ แต่น่าสังเกตว่า หากได้ผลดีจะมีหน่วยงานมากมายมาแย่งกันอ้างบุญคุณ ขอเข้ามามีส่วนด้วยหรือร่วมอ้างว่า งานสำเร็จได้เพราะตน ปรากฏการณ์เช่นนี้ฝังอยู่ในลักษณะนิสัยของข้าราชการตลอดมา
          ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนที่มีเงินเดือนสูงความกล้าในการตัดสินใจจะลดลงตามลำดับ จะทำสิ่งใดก็คิดแล้วคิดอีก หรือโยนให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปเป็นผู้ตัดสินใจ เข้าทำนอง ไม่ต้องการเก็บ "เผือกร้อน" ไว้ในมือ เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตใดเกิดขึ้นในหน่วยงาน ถ้าสามารถปัดความรับผิดชอบได้จะรีบดำเนินการทันที หรือบ่อยครั้งได้หาทางออกด้วยการปัดความรับผิดชอบไปให้กลุ่มบุคคล โดยตั้ง"คณะกรรมการ" ให้ร่วมกันรับผิดชอบ เช่นนี้ เป็นความพยายามหลีกเลี่ยงให้ไกลจากความเสี่ยงทั้งปวงแล้ว เป็นการกระทำที่ไม่คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ และยังไม่สนใจว่างานราชการจะล่าช้าเพียงใดการโยนกลองหรือการปัดความรับผิดชอบของข้าราชการส่งผลทำให้เกิดความล่าช้า เสียเวลา สร้างความรำคาญใจให้แก่ประชาชน และในบางครั้งทำให้ประชาชนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับทางราชการ
          สำหรับสาเหตุสำคัญของนิสัยการปัดความรับผิดชอบ เกิดจากการไม่กล้าตัดสินใจด้วยตนเองจึงโยนการตัดสินใจให้ผู้อื่น เกิดจากความเกียจคร้านของข้าราชการ การไม่กำหนดให้มี "เจ้าภาพ"หรือผู้รับผิดชอบที่เด่นชัด รวมตลอดไปถึงคำสั่งต่าง ๆ ที่ออกมาคลุมเครือไม่แน่นอนชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดจากความต้องการรักษาตำแหน่งและผลประโยชน์ของตนเองให้คงอยู่ต่อไป ประกอบกับการที่มิใช่เป็นนักบริหารมืออาชีพ แต่เป็นเพียงนักบริหารมือสมัครเล่นที่รับราชการมานานและอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารได้ ปรากฏการณ์เช่นนี้มีแนวโน้มที่เห็นได้ในทุกหน่วยราชการ เป็นลักษณะของข้าราชการที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกียรติแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล มิใช่เพื่อรับใช้ประชาชนหรือสร้างผลประโยชน์ให้ประชาชน ทั้งยังไม่คำนึงว่า "ความล่าช้า คือ ความอยุติธรรม" แต่จะอ้างเสมอว่า "เป็นเรื่องละเอียดอ่อน" หรือ "เพื่อให้เกิดความรอบคอบ"

7. ไม่ลับเลื่อยให้คมอยู่เสมอ
          ข้าราชการบางคนพอใจความรู้ความสามารถเท่าที่มีอยู่ หรือแม้ไม่พอใจแต่ก็ไม่ต้องการที่จะเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ไม่อยากที่จะรับรู้หรือยอมรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความคิดที่ว่าถ้ามีความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว จะทำให้ตนเองต้องมีงานและมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงไม่ขวนขวายหาความรู้เพิ่ม การที่ข้าราชการไม่ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมย่อมส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะทำให้ข้าราชการขาดการพัฒนา ขาดคุณภาพ ไม่อาจรับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ง่ายยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสารหรือยุคแห่งการแข่งขัน การเพิ่มพูนความรู้ของข้าราชการเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง
          ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อข้าราชการก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งบริหาร ย่อมบริหารงานโดยขาดความรู้ทางวิชาการ ขาดการคิดและวางแผน ปฏิบัติงาน และประเมินผลอย่างเป็นระบบ ขาดการนำข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ต่อต้านการรับเทคโนโลยีใหม่ ใช้ประสบการณ์ในการบริหารงานโดยละเลยที่จะนำวิชาการและข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยมาใช้ประโยชน์ สภาพเช่นนี้ ยิ่งเป็นผลเสียต่อการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการมากขึ้น


8. บุญหนักศักดิ์ใหญ่
          ข้าราชการบางส่วนเป็นชนชั้นที่มีเชื้อสายของขุนนางเก่า และแต่เดิมถือกันว่าการรับราชการเป็นการรับใช้พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชการจึงมีฐานะทางสังคมสูง แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วข้าราชการจัดได้ว่าเป็นพวกชนชั้นปกครอง เพราะฉะนั้น ลักษณะอุปนิสัยหรือพฤติกรรมที่ข้าราชการไทยบางส่วนแสดงออกมาก็เป็นผลมาจากการนิยมชมชอบหรือสืบเชื้อสายมาจากขุนนางเก่า ตลอดจนยึดมั่นว่าตนเองเป็นชนชั้นปกครองดังกล่าว ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายคือ ข้าราชการระดับสูงพยายามทำตัวเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เพื่อให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยเห็นและให้สำนึกว่าเป็นคนต่ำต้อยวาสนาหรือเป็นคนละชั้นกัน ชอบวางตัววางฟอร์มจนเกินกว่าเหตุ ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ หรือสร้างขั้นตอนต่าง ๆ เช่น ไม่เปิดโอกาสให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือประชาชนเข้าพบได้ง่าย เพื่อแสดงว่าตนเองนั้นใหญ่มาก มีความสำคัญมาก ผู้ใดจะขอเข้าพบต้องแจ้งชื่อ วัตถุประสงค์ และเวลาของการเข้าพบล่วงหน้าแก่สมุนหรือเลขาฯ หน้าห้องที่รู้เห็นเป็นใจและได้รับการฝึกฝนจนเชื่องมาแล้วอย่างดีในการสร้างเงื่อนไขของการขอเข้าพบดังกล่าว
          นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อำนาจในการออกคำสั่งและเสนอความคิดเห็นของระบบราชการไทยส่วนใหญ่มาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเดียว เปรียบได้กับน้ำตกที่มีกระแสน้ำไหลจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่างเท่านั้น เหล่านี้ยิ่งทำให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยเป็นฝ่ายที่ต้องเชื่อฟังและตกอยู่ในความเกรงกลัวตลอดเวลา หากไปขัดแย้งกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ความก้าวหน้าในชีวิตอนาคตจะไม่เกิดขึ้น เข้าทำนอง “เรือรั่ว เมียชั่ว นายชังเป็นอัปมงคล”
          ผลร้ายย่อมจะมาตกกับผู้ที่อยู่ส่วนล่างที่สุดของสังคม คือ ประชาชน ซึ่งจะเป็นผู้รับแรงกดดันจากการแสดงอำนาจบาตรใหญ่มากที่สุดและหนักที่สุด อันมีผลทำให้การพัฒนาประเทศแทนที่จะอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย กลับกลายเป็นการ เข้ามาร่วมพัฒนาประเทศเพราะถูกกดดัน ถูกบังคับจากข้าราชการที่หลง ตัวเองว่าเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หรือลืมรากของตัวเองและใช้อำนาจ อันมิชอบกับผู้อื่น ซึ่งในบางกรณีเปรียบได้กลับคำกล่าวที่ว่า “คางคกขึ้นวอ”   หรือ “วัวลืมตีน”ลักษณะอุปนิสัยประการนี้มีผลทำให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และปล่อยให้การตัดสินใจขึ้นอยู่กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แต่ฝ่ายเดียว เพราะหากไปขัดแย้งกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ความก้าวหน้าในราชการจะมีอุปสรรคได้

9. เกียจคร้าน
          ข้าราชการมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มความสามารถ เพราะกินเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชน แต่ในสภาพความเป็นจริง ข้าราชการบางส่วนมีนิสัยที่ไม่ได้ใส่ใจในหน้าที่ประการนี้ เห็นได้จากการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยติดต่อกันมาช้านานความเกียจคร้านของข้าราชการบางคนเห็นได้จากการมาทำงานสายแต่กลับบ้านเร็ว ดังที่กล่าวกันว่า “มาอย่างไทย ไปอย่างฝรั่ง” อันหมายถึง ข้าราชการไทยมาทำงานอย่างคนไทย คือมาสาย ไม่ตรงเวลาเสมอ แต่พอถึงเวลาเลิกงานจะเลิกงานตรงเวลาอย่างฝรั่งต่างชาติบางชาติ หรือบางทีข้าราชการไทยเลิกงานก่อนเวลา
          ลักษณะนิสัยเกียจคร้านของข้าราชการไทย สังเกตได้จากการเริ่มปฏิบัติงานของข้าราชการจะไม่มีการเริ่มทำงานก่อนเวลาราชการอย่างเด็ดขาดจะปล่อยให้ประชาชนรอจนกว่าจะถึงเวลาเริ่มงาน เมื่อประชาชนสอบถามจะตอบว่า ยังไม่ถึงเวลา โดยไม่ยอมเสียเปรียบประชาชน ตรงกันข้าม ข้าราชการเลิกงานก่อนเวลาเสมอ คือหยุดทำงานเพื่อเตรียมตัวกลับบ้านนานเกินควร กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชน ยิ่งไปกว่านี้ การลงเวลาเพื่อเข้าหรือเลิกปฏิบัติงานจะมีน้อยคนมากที่ลงตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นการสอนให้ข้าราชการโกหก
          ข้าราชการไทยส่วนใหญ่จะเป็น “ม้าตีนต้น” คือจะขยันมากในช่วงรับราชการครั้งแรก ซึ่งต้องมีช่วงของการทดลองปฏิบัติราชการ เช่น 6 เดือน หลังจากผ่านช่วงเวลาดังกล่าวและได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการโดยสมบูรณ์เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว “ลายเดิมก็จะออก” ลายยิ่งปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบราชการซึ่งเป็นระบบที่ช่วยเสริมส่งให้ข้าราชการขี้เกียจมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่าข้าราชการทำงานหรือไม่ทำงาน ดังที่เรียกว่า “ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ” ก็จะได้รับครึ่งขั้นหรือหนึ่งขั้นเงินเดือนแน่นอนอยู่แล้ว แถมไม่ถูกไล่ออกได้ง่าย ๆ อีกด้วย ขณะเดียวกันการขึ้นเงินเดือนเลื่อนขั้นก็มิได้อยู่ที่ความสามารถ แต่อยู่ที่การประจบสอพลอหรือบางหน่วยงาน
          นอกจากนี้แล้ว ระบบราชการที่ “ไล่ออกยาก อย่างเก่งแค่ย้าย” ของข้าราชการไทยยิ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ข้าราชการขี้เกียจมากขึ้น ลักษณะนิสัยที่เกียจคร้านของข้าราชการเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการอย่างแน่นอน ด้วยเหตุที่ข้าราชการเป็นกลไกและแขนขาที่สำคัญของรัฐบาลในการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นเรื่องการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการ หลังจากรัฐบาลได้กำหนดนโยบายแล้ว ก็จะส่งต่อมายังข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามนโยบายนั้น แต่เมื่อข้าราชการเกียจคร้านก็เปรียบเสมือนแขนขาที่อยู่ในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคไร้ประสิทธิภาพ หรือไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เมื่อประชาชนมาทำงานร่วมกับข้าราชการบางคนที่ไม่ขยัน ไม่สนใจทำงาน ย่อมทำให้การพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการเป็นไปอย่าง “เต็มที” แทนที่จะเป็น “เต็มที่”

10. ถูกจำกัดความอัจฉริยะ
          ในการปฏิบัติงานพัฒนาประเทศ ความคิดริเริ่มเป็นสิ่งจำเป็นมาก ความคิดริเริ่มในทางที่ดีย่อมทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าข้าราชการไทยเป็นจำนวนมากขาดความคิดริเริ่มหรือความคิดริเริ่มสูญสิ้นเร็วเกินไป อีกทั้งระบบราชการไทยไม่สนับสนุนให้ข้าราชการมีความคิดริเริ่มซ้ำยังทำลายความคิดริเริ่มที่ติดมากับข้าราชการใหม่อีกด้วย
          ความคิดริเริ่มนั้นจะถูกต่อต้านด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น อ้างว่าผิดระเบียบ ทำผิดขั้นตอน ยุ่งยาก หรือแม้กระทั่งถ่วงเวลาหรือชะลอการนำมาใช้ออกไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ความคิดริเริ่มดังกล่าวจึงถูกทำลาย การปฏิบัติงานของข้าราชการยังคงล่าช้า และการทุจริตมีอยู่เช่นเดิม แท้ที่จริงแล้วหน่วยงานและข้าราชการสามารถแก้ไขความล่าช้าของการให้บริการประชาชนได้ แต่มีข้าราชการบางส่วนแกล้งทำเป็นไม่รู้วิธีแก้ไข เพราะมีเหตุผลดังกล่าวแฝงอยู่การขาดความคิดริเริ่มของข้าราชการ
          ข้าราชการที่ขาดความคิดริเริ่มเปรียบเหมือนกับข้าราชการผู้นั้นไม่มีอนาคต ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มองการณ์ไกล เป็นลักษณะของการย่ำเท้าอยู่กับที่ หรือเดินถอยหลัง ตรงกันข้าม ถ้าข้าราชการมีความคิดริเริ่มเปรียบเหมือนข้าราชการผู้นั้นได้คิดถึงอนาคต คิดถึงความก้าวหน้า มีวิสัยทัศน์ โดยคิดล่วงหน้าแล้วพยายามทำให้ได้ตามที่คิดไว้นั้น เข้าทำนอง "สานฝันให้เป็นจริง" หรือ "ฝันไว้ไกล ไปให้ถึง" อันเป็นลักษณะของการเดินก้าวไปข้างหน้าเมื่อนำข้าราชการที่ไม่มีความคิดริเริ่มซึ่งเปรียบเหมือนคนย่ำเท้าอยู่กับที่ มาเปรียบเทียบกับข้าราชการที่มีความคิดริเริ่มซึ่งเปรียบเหมือนคนเดินก้าวไปข้างหน้า ยิ่งทำให้เห็นได้ว่า ข้าราชการที่ไม่มีความคิดริเริ่มอยู่ในสภาพที่เดินถอยหลัง เพราะข้าราชการอีกคนหนึ่งที่มีความคิดริเริ่มนั้นได้ก้าวหน้าไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ความเจริญก้าวหน้าหรือการก้าวไปข้างหน้าไม่เพียงเกิดแก่ตัวข้าราชการเองเท่านั้น ยังส่งผลไปถึงประเทศชาติและประชาชนอีกด้วย เป็นต้นว่า ประชาชนได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการสาธารณะที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ประหยัด สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตลอดจนโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งหมดนี้ ล้วนเริ่มมาจากความคิดหรือความคิดริเริ่ม หรือบางครั้งอาจเป็น "ความคิดที่ออกนอกกรอบ" ทั้งสิ้น


http://www.sudpatapee.com/index.php/2014-08-15-15-18-27/item/184-10-4-0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น